เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กาญจนบุรี – กะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ถือเคียวเกี่ยวข้าวลงแขก ลดค่าใช้จ่าย สร้างความรักความสามัคคี พร้อมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไว้ให้บุตรหลาน
วันนี้ (25 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านสะเนพ่อง หมู่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านของ ต.ไล่โว่ ที่ตั้งอยู่กลางป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อาชีพหลักคือการ ทำไร่ ทำสวน และทำนา เมื่อถึงเวลาปลูกข้าวชาวบ้านในหมู่บ้านจะออกมาร่วมด้วยช่วยกันปลูก เมื่อถึงเวลาเกี่ยวข้าว ชาวบ้านก็จะออกมาร่วมด้วยช่วยกันเกี่ยว เมื่อถึงเวลาฟาดข้าวก็จะร่วมด้วยช่วยกันจนแล้วเสร็จ
โดยที่เจ้าของที่นาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่จัดหาหมากพลู รวมทั้งเครื่องดื่ม และทำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงให้อิ่มหนำเพื่อเป็นการตอบแทนเท่านั้นเอง วิถีชีวิตของชาวบ้านสะเนพ่องถูกถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน จนทุกคนซึมซับและกลายเป็นประเพณีลงแขกมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตการลงแขกทำนา ทำไร่ พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมชนบท แต่ปัจจุบันการทำนา มีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆที่ทันสมัยเข้ามาจัดการแทนแรงงานคน ทำให้ประเพณีการลงแขก เริ่มจางหายไปจากชนบทของคนทำไร่ทำนา จนแทบจะไม่มีให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง และชาวตำบลไล่โว่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ยังคงรักษาวิถีชีวิตประเพณีการลงแขกเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และเชื่อว่าลูกหลานจะสืบสานประเพณีนี้ไปอีกนานแสนนาน
สำหรับพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ข้าวที่เป็นมรดกตกทอด ที่คนในหมู่บ้านเก็บรักษาเอาไว้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์มีชื่อเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยง ประกอบด้วยพันธุ์ อิวุงบ่อง(อ่านว่า-อิ-วุง-บ่อง) พันธุ์ อิวุงเซ่อยหนุ (อ่านว่า-อิ-วุง-เซ่ย-หนุ) และพันธุ์ ผะเผอย (อ่านว่า-ผะ-เผย)
สำหรับชาวบ้านสะเนพ่อง รวมทั้งชาวตำบลไล่โว่ทั้ง 6 หมู่บ้าน นอกจากจำทำนาแล้ว ยังนิยมปลูกพืชผักชนิดต่างๆเอาไว้สำหรับบริโภค ในครัวเรือนและแบ่งปันกันโดยไม่ต้องซื้อ เช่น พริกกะเหรี่ยง แตง มะเขือ ฟักทอง ฟักเขียว งา รวมทั้งยาสูบ หากปีไหนได้ผลผลิตดีก็สามารถนำออกไปจำหน่ายตามตลาดนัด หรือที่อำเภอสังขละบุรีได้อีกด้วย