วันที่ 7 ม.ค.65 นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ใคร่ขอความร่วมมือป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หลังมีการปรับการแจ้งเตือนการแพร่ระบาดของโรคแก่ประชาชนเป็นระดับ 4 ป้องกันไม่ให้แพร่รบาดมากขึ้น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหญ่เป็นกลุ่มก้อน จึงใคร่ขอความร่วมมือประชาชน ดังนี้ 1.งดไปสถานที่เสี่ยง ที่ระบบระบายอากาศไม่ดี แออัด ไม่ใส่หน้ากากอนามัย งดรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้าน 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก 3.เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น โดยขอให้งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท แต่หากมีความจำเป็นขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขนส่งสาธารณะมีมาตรการเข้มงวด ทั้งใส่หน้ากาก ตรวจ ATK กรณีใช้เวลาโดยสารนาน 4.งดเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการแพร่ระบาดสูง และผู้เดินทางกลับมาติดเชื้อเป็นจำนวนมาก หากพบผู้ติดเชื้อไม่แนะนำให้ปิดโรงงาน เพราะเสี่ยงคนงานกระจายตัวกลับบ้านไปแพร่เชื้อ แต่แนะนำให้ใช้มาตรการ Bubble & Seal ป้องกันดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะลดความเสี่ยงจุดรับประทานอาหาร/น้ำดื่มและการรวมตัวทำกิจกรรมจำนวนมาก” จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วย มาตรการ VUCA ส่วนมาตรการทางกฎหมาย เช่น การปรับพื้นที่สี หรือการปิดสถานที่ต่างๆ ศบค.จะมีการประชุมเพื่อปรับมาตรการในวันนี้ หากสงสัยว่าตนเองเสี่ยง ควรรีบตรวจ ATK และใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน/ที่พักอาศัย (Home lsolation) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มในครอบครัวและชุมชน
ส่วนแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน/ที่พักอาศัย (Home lsolation) ให้ปฎิบัติดังนี้ แนะนำให้ผู้ป่วยแนกตัวที่บ้านเพื่อสังเกตุอาการต่อ หากมีอาการมากขึ้นใน 48 ชั่วโมง เช่น ไข้สูง เหนื่อยมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก กินไม่ได้ ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที ต้องระมัดระวังป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นในบ้านอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว 2.หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย ไม่เข้าใกล้ หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุ หรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยการรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 3.แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ 4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานอาหารในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานด้วยกันควรแยกรับประทานอาหารของตนเอง ไม่รับประทานอาหารสำรับเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร 5.สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ออกมาจากห้องที่พักอาศัย 6.ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่น หรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น 7.แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอนด้วยน้ำ และสบู่ หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
8.หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชูที่ใช้แล้วให้ใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล น้ำสบู่ทันที 9.ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย เมื่อเสร็จภารกิจต้องถอดหน้ากากอนามัยลงในถังขยะและทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และน้ำสบู่ทันที 10.ทุกคนในบ้านต้องล้างมือทำความสะอาดบ่อยครั้งที่สุด เพื่อป้องกันการรับและเพื่อติดเชื้อ 11.ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณที่ผู้ป่วยพักและเครื่องเรือน เครื่องใช้ เช่น เตียง โต๊ะ โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปรคลอไรท์ (1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน) 12. ทำความสะอาดห้องน้ำบริเวณโถส้วม หรือพื้นที่ที่อาจเปื้อนอุดจาระ หรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 5000 ppm โดยผสมน้ำยาฟอกขาว 5% 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน 13.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูฯลฯ ด้วยสยู่ หรือผงซักฟอกธรรมดา หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส 14.เฝ้าระวังอาการของผู้เจ็บป่วยใกล้ชิด หรือสมาชิกในบ้านภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ หมั่นสังเกตุอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ อาการอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้ หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฎิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถยนต์สาธารณะ ต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแก่คนรอบข้าง