เผยแพร่:
ปรับปรุง:
กาญจนบุรี – ผู้ว่าฯ กาญจน์ประกาศเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีใบอนุญาตประเภทก่อสร้าง-ขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดได้แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก 9 ข้อ อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (3 ก.พ.) นายจีระเกียรดี ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ประกาศคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี 643/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัดกาญจนบุรี
โดยระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 18) กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ควบคุม
เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกลุ่มแรงานต่างด้าวและในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้เข้าไปทำงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 9 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564
และมติที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ตามข้อ 3.2.2 (3)
จังหวัดจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการทำงาน 2 กลุ่มกิจการ ได้แก่ แรงานในกิจการขนส่งสินค้า และแรงงานในกิจการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต้องเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย โดยให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง บริษัทยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดกาญจนบุรี โดยทำเป็นหนังสือตามแบบคำขอเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการทำงาน ทั้งกรณีนำคนต่างด้าวไปทำงานนอกพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และกรณีนำคนต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
2.มีหลักฐานแสดงความจำเป็นที่ต้องเดินทางเพื่อการทำงาน 3.แรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดกาญจนบุรีต้องได้รับอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายและต้องมีการประกันสุขภาพ หรือเป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม และต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR หรือการตรวจตัวอย่างแบบรวมตัวอย่างน้ำลาย (pooled saliva) กลุ่มละ 5 คน ทั้งนี้ ผู้ประกอการ นายจ้าง บริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อไรรัสโควิด-19 และจะอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงานมาทำงานข้ามจังหวัดได้หากตรวจไม่พบเชื้อเท่านั้น
4.ให้แรงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่อาศัยได้เฉพาะที่ทำงานและที่พัก ซึ่งผู้ประกอบการ นายจ้าง บริษัทได้จัดไว้ให้เท่านั้น 5.ต้องจัดเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการเดินทางประจำยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางทุกคัน และจัดทำรายละเอียดเอกสาร แสดงจำนวน และรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่เดินทางทั้งขาไปและขากลับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและรายชื่อแรงงานต่างด้าวในการเข้าออกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และให้ทำความสะอาดรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทาง
6.ก่อนแรงานต่างด้าวเดินทางออก และกลับเข้าพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทุกครั้ง ผู้ประกอบการ นายจ้าง บริษัทต้องนำแรงานต่างด้าว รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือพนักงานจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเจ้าของสถานประกอบการ โรงงานจะต้องสังเกตดูอาการของแรงานต่างด้าว โดยสำรวจ ตรวจสอบ (Check List) ตามมาตรการควบคุมโรค วัดอุณหภูมิร่างกาย หากพบว่ามีอุณหภูมิ และมีอาการที่ผิดปกติ เช่น เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ไปพบแพทย์หรือเข้าตรวจที่โรงพยาบาล
7.ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางโดยเคร่งครัด 8.ให้สถานประกอบการทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่ทางราชการกำหนด และ 9.ให้ผู้ปฏิบัติงาน และแรงานต่างด้าวในสถานประกอบการติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” หรือ “ไทยชนะ” หรือบันทึกข้อมูลการเดินทางทุกครั้ง
หากผู้ใดฝาฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องะวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง