เผยแพร่:
ปรับปรุง:
กาญจนบุรี – เตือนความจำคดี “ล่าเสือดำ” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และคดีที่เกี่ยวข้องครึ่งปีแรก 2563 สุดท้ายแล้วทุกคนเฝ้ารอคำพิพากษาในชั้นฎีกาว่าผลจะอย่างไร
น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์บทความเตือนความทรงจำคดีล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ลงในเฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า
หลังจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค.63 นายเปรมชัย พร้อมพวก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิ เพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เป็นครั้งที่ 3 และศาลพิจารณาให้ขยายเวลาได้ถึงวันที่ 10 เม.ย.63 ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค.63 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของอัยการโจทก์
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รายงานถึงความคืบหน้าการพิจารณาการยื่นฎีกาคดีร่วมกันล่าเสือดำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คน ว่าพนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ โจทก์ ได้เดินทางไปยืนยันต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิ ว่าไม่ขอฎีกา เนื่องจากได้มีการตรวจสอบ พิจารณาประเด็นและเหตุผล รวมทั้งบทลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้ว เห็นว่าครบถ้วนตามที่อัยการโจทก์ได้ฟ้องไป
จึงมีความเห็นไม่ยื่นฎีกาอีก ซึ่งตามขั้นตอนได้ส่งความเห็นนี้ไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผบช.ภ.7) เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดย ผบช.ภ.7 ได้ส่งความเห็นกลับมาแล้วว่า เห็นตรงตามอัยการ ดังนั้น ความเห็นจึงเป็นที่ยุติแล้วว่าไม่ฎีกาเกี่ยวกับผลคดีดังกล่าวอีกต่อไป เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นฎีกาของจำเลย อัยการโจทก์จะพิจารณาแก้ประเด็นฎีกาของจำเลยต่อไป
1 เม.ย.63 นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาได้รับรองอนุญาตให้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ส่วนแม่ครัว จำเลยที่ 3 คดียุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เนื่องจากอัยการโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจยื่นฎีกา
16 เม.ย.63 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สอบถามความคืบหน้าการยื่นฎีกาของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยังศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้ความว่า นายเปรมชัย และพวกได้ทำการยื่นฎีกา *เพื่อต่อสู้คดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว* หมายเหตุ : ตามหลักกฎหมาย หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้โทษ แต่จำคุกไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
แต่หากผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด (ฎีกา) และอนุญาตให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้วสามารถให้รับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปได้
ความคืบหน้าชั้นศาลอุทธรณ์คดีติดสินบนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญานายเปรมชัย กรรณสูต คดีเสนอสินบนเจ้าหน้าที่ ยื่น 5 แสนบาทประกันตัวสู้คดีชั้นฎีกา
29 ก.ค.63 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 (นายเปรมชัย) ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนนายยงค์ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งหลังจากมีคำพิพากษานายเปรมชัย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ 500,000 บาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา
โดยคดีติดสินบนดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เคยมีคำพิพากษา นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1 ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา และให้นับโทษต่อจากคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกด้วย ซึ่งในคดีล่าสัตว์ป่า ศาลพิพากษาให้นายเปรมชัย กรรณสูตร จำคุกรวม 16 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ศาลไม่สามารถนับโทษต่อในคดีหมายเลขดำ อ.1143/2561 (คดีครอบครองงาช้าง) และคดีหมายเลขดำ อ.1144/2561(คดีครอบครองอาวุธปืนไรเฟิล)ได้ เนื่องจากทั้ง 2 คดี (ในขณะนั้น) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
ศาลได้อนุญาตให้นายเปรมชัย กรรณสูตร จำเลยที่ 1 ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน 200,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนดนัดทุกครั้ง
จำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าคลิปเสียงตามที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นการสนทนาตามปกติ และขณะนั้นนายเปรมชัย ไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว
คดีครอบครองปืนที่ค้นพบในบ้านพัก
11 ส.ค.63 นายเปรมชัย กรรณสูตร เดินทางมายังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีครอบครองอาวุธปืนไรเฟิลและเครื่องกระสุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์ตามคำฟ้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นปืนของบิดา เมื่อบิดาเสียชีวิต ได้มีการซ่อมแซมบ้านของบิดาและย้ายข้าวของมา โดยไม่ทราบว่ามีการย้ายปืนของกลางมาไว้ที่บ้านด้วยนั้น ศาลเห็นว่าคำให้การของจำเลยขัดแย้งกับคำให้การก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เคยมีการพูดถึงในศาลชั้นต้น
ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยครอบครองอาวุธปืนไม่มีทะเบียนถึง 5 กระบอก บางกระบอกเป็นอาวุธร้ายแรงสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ หากนำไปก่ออาชญากรรม หรือนำไปใช้ล่าสัตว์ป่า ก็ยากที่จะหาตัวผู้กระทำความผิด ถือเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง และที่จำเลยอ้างถึงสาเหตุด้านสุขภาพนั้น ศาลเห็นว่า ภายในเรือนจำมีโรงพยาบาลและแพทย์คอยดูแล และสามารถส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลภายนอกได้หากมีเหตุจำเป็น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ คือคดีครอบครองปืนที่บ้านพักของนายเปรมชัย กรรณสูต ในศาลชั้นต้น มีรายละเอียดดังนี้ อัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 ว่าเมื่อวันที่ 7 ก.พ.61 จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายด้วยการมีอาวุธปืนยาวไรเฟิล 3 กระบอก และปืนแก๊ป 1 กระบอกไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตที่บ้านพัก
จำเลยได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา 200,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ซึ่งคดีนี้ในชั้นสอบคำให้การจำเลย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.61 จำเลยเคยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่เมื่อ 9 ก.ค.62 วันสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยได้แถลงคำให้การ “รับสารภาพ” พร้อมยื่นคำร้องประกอบต่อศาลเพื่อพิจารณา ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติครอบครัว การศึกษา การทำงาน และอื่นๆ ของจำเลย และรายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วันเพื่อประกอบการพิจารณา
วันที่ 20 ส.ค.62 นายเปรมชัย ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระบุว่า จำเลยจะขออุปสมบท (บวช) ที่วัดบวรนิเวศหรือวัดอื่นเป็นเวลา 15 วันเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จำเลยจะบริจาคเงินส่วนตัว 3 ล้านบาท เพื่อเป็นการสาธารณประโยชน์และจำเลยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืนอีกตลอดชีวิต
ศาลพิเคราะห์รายงานสืบเสาะประวัติ ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุก 1 ปีตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลย ยังมีโทษคดีอาญาจำคุกอีก 2 คดี ในศาลจังหวัดทองผาภูมิ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พฤติการณ์จึงไม่รอการลงโทษ
สุดท้ายแล้วทุกคนต่างเฝ้ารอคำพิพากษาในชั้นฎีกาว่าผลจะออกมาเช่นไร