เผยแพร่:
ปรับปรุง:
กาญจนบุรี – รอง ผบก.ตร.กาญจน์ ฝ่ายควบคุมด่านมั่นคง เตือนผู้ขับขี่รถ จยย.รับจ้างรับผู้โดยสาร ระวังอาจเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่กลับจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยง แถมเจอทั้งคุก-ปรับ
วันนี้ (19 ก.พ.) พ.ต.อ.พงษกร อุปพงษ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า พล.ต.ต.วรณัน สุขเจริญ ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.อ.กฤตชัย ทองอยู่ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสังขละบุรี เจ้าหน้าที่กองร้อย ตชด.ที่ 134 และเจ้าหน้าที่ ตม.กาญจนบุรี ร่วมกันตั้งจุดตรวจจุดสกัดบริเวณจุดตรวจร่วมตามเส้นทางถนนสาย 323 ไทรโยค-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี เพื่อป้องกันและปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต่างๆ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างต่อเนื่อง
พ.ต.อ.พงษกร อุปพงษ์ เปิดเผยว่า ตนในฐานะผู้ควบคุมด่านความมั่นคงได้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจและกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งมาโดยตลอด โดยพบว่ายังคงมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและผู้นำพาฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 5522/2563 ลงวันที่ 29 ธ.ค.63 เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทุกกรณี และถึงแม้ว่าต่อมาวันที่ 3 ก.พ.64 นายจีระเกียรดี ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี จะมีประกาศคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี 643/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัดกาญจนบุรีแต่ต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องเท่านั้น
โดยล่าสุด เวลาประมาณ 17.30 น.วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจุดสกัดสะพานรันตี หมู่ 1 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ได้ทำการจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจำนวน 2 ราย รถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน แรงงานชาวพม่า 2 ราย เป็นชาย 1 ราย เป็นหญิง 1 ราย ประเด็นการจับกุมประชาชนบางส่วนอาจจะมองว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ไม่ได้มองเช่นนั้น เนื่องจากจากการสอบปากคำแรงงานทั้ง 2 ราย พบว่า เพิ่งเดินทางกลับจากจังหวัดที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอัตราที่สูง ด้วยการนั่งรถโดยสารมาลงที่ตลาดอำเภอทองผาภูมิ จากนั้นได้ว่าจ้างรถจักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน ให้ไปส่งที่ชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู ในราคาคันละ 700 บาท แต่สุดท้ายก็มาถูกเจ้าหน้าประจำด่านตรวจสะพานรันตีจับกุมได้เสียก่อน
สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นชาวตำบลท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ ทั้ง 2 ราย ส่วนผู้ว่าจ้างเป็น 2 สามีภรรยาชาวพม่า ที่เพิ่งกลับจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี เพื่อดำเนินการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน พร้อมประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการตรวจวัดอาการไข้ และนำตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งหากพบว่าผลตรวจออกมาเป็นลบไม่ติดเชื้อก็ถือว่าเป็นความโชคดีของทุกคนที่ร่วมเดินทางมากับรถโดยสาร แต่หากผลตรวจออกมาตรงกันข้าม จะทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ถูกจับกุมรายแรกคือ นายประเสริฐ จันทนา ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มีนายเล่น ไม่มีนามสกุล ชาวพม่า อายุ 33 ปี เป็นผู้โดยสาร รายที่ 2 คือนายทองใบ พรรณา อายุ 42 ปี ชาวบ้าน 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ มีน.ส.เหว่ย เซน อู้ ไม่มีนามสกุล ชาวพม่า อายุ 25 ปี เป็นผู้โดยสาร ของกลางเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ 125 สีแดงดำ หมายเลขทะเบียนป้ายเหลือง กกข 963 กาญจนบุรี จำนวน 1 คัน และรถจักรยานยนต์รับจ้างยี่ห้อฮอนด้า ดรีม สีน้ำเงิน ทะเบียนป้ายเหลือง หมายเลข กกค 811 กาญจนบุรี
พ.ต.อ.พงษกร อุปพงษ์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอยากจะฝากเตือนไปถึงกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทุกคนว่า หากพบผู้โดยสารเป็นชาวพม่าว่าจ้างให้ไปส่งตามแนวชายแดนทั้งพื้นที่ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี รวมทั้งด่านเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี และตามช่องทางธรรมชาติ ขอให้ทุกคนพึงระวังเอาไว้ก่อนเลยว่า ผู้ว่าจ้างอาจจะเป็นผู้กระทำผิดฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี 643/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัดกาญจนบุรี แต่แรงงานจะต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องเท่านั้น
เพราะหากถูกจับกุมจะต้องถูกดำเนินคดีฐานความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรืปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจากบทลงโทษที่สูงไม่คุ้มเลยที่ทุกคนจะต้องมาเสี่ยงเช่นนี้