พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในฐานะตัวแทนของกองทัพบก (ทบ.) เปิดเผยว่า ทบ.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการสรุปพื้นที่ของทหาร 300,000 ไร่ที่จะนำมาดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์ (Mega Solar Farm) คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน 31 มี.ค.64 จากนั้นในช่วงต้นเดือน เม.ย.64 ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะนำเรื่องเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว หากได้รับความเห็นชอบก็คาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า (PPA) ได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กองทัพบก และ กฟผ.จะดำเนินการนำร่อง Mega Solar Farm ในพื้นที่ 3,000 ไร่ก่อน คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และพร้อมเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ ต่อไป
ขณะที่ล่าสุด ภาคธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ 50-60 รายได้เข้ามาพบเพื่อขอทราบรายละเอียดในเบื้องต้น เนื่องจากสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ รวมถึงการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ โดย ทบ.คาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการหมุน 8 รอบตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยที่ตกต่ำจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และนำประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดในอนาคต
“การเซ็น MOU กับกฟผ.เพื่อทำโครงการนี้ เป็น MOU สะท้านปฐพี รายเล็ก-รายใหญ่สะดุ้งกันหมด 10 ตระกูลเศรษฐีในเมืองไทยสนใจทำหมด ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็คงต้องเหตุผลดีดีมาว่าทำไม ถ้าประเทศเสียโอกาสไปก็ต้องรับผิดชอบ กองทัพบกมีหน้าที่นำเสนอแนวคิดโครงการ เมื่อรัฐบาลรับไปแล้วก็ถือว่าหมดภาระของเรา” พล.ท.รังษี กล่าว
พล.ท.รังษี กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะออกมาระบุว่าโครงการนี้จะไม่ได้อยู่ในแผน PDP ฉบับใหม่ แต่เชื่อว่าสามารถปรับปรุงแผน PDP ดังกล่าวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเกิดผลกระทบจากโควิด-19 เวียดนามเองก็ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวนมหาศาล ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนานาชาติ ดังนั้นหากไทยประกาศในลักษณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้หันมาที่ไทยได้
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ ทบ.เดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้ หากรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยก็เชื่อว่าจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง เพราะมองว่าจะเป็นการปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าครั้งสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าและเศรษฐกิจ โดยประเทศและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ ค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือยูนิตละ 2.50 บาท จากเดิม 3.50 บาท,ประเทศจะลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการนำเข้าก๊าซและถ่านหิน ประมาณปีละ 700,000-800,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน, สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้า,ช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยใช้วิธี Barter Trade กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ นำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์อุปกรณ์โซลาร์ฟาร์ม ในมูลค่าเท่ากัน คิดเป็นเงินประมาณ 3-4 แสนล้านบาท,ช่วยลดมลภาวะและสภาวะโลกร้อน และ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
“ผมเชื่อว่า หากโครงการนี้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ยังจะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย และจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทะยานทะลุ 2,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกด้วย”พล.ท.รังษี กล่าว
พล.ท.รังษี กล่าวว่า เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง ทบ.ได้ร่วม กฟผ.วางหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน จะต้องเป็นมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% ต้องวางแบงก์การันตี 100% ของมูลค่าลงทุน คาดว่าจะมีต้นทุนราว 18 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ไม่รวมค่าเช่าที่ดินที่ราชพัสดุที่ต้องจ่าย 4 พันบาท/ไร่/ปี ต้องใช้วัสดุก่อสร้างและจ้างแรงงานภายในพื้นที่ จากนั้นจะต้องก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และห้ามเปลี่ยนมือใบ PPA ภายใน 3 ปี หากไม่เป็นไปตามสัญญา ทบ.จะยึดโครงการคืนและอาจเสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อรับไปดำเนินการต่อ
รวมทั้งจะต้องลดค่าไฟฟ้าเมื่อโครงการเดินหน้าไปแล้วครบ 3 ปี เพราะเชื่อว่าจะผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว ขณะที่ ทบ.คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน คือ ส่วนแบ่งจากส่วนต่างค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อจากเอกชน
ส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะนำเข้าจากจีน อาจจะเลือกเพียง 3 รายเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ง่ายต่อการใช้เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเบื้องต้นได้เจรจากับทางสถานทูตจีนถึงโอกาสที่จะทำ Barter Trade เพื่อแลกสินค้าเกษตรจากไทยแล้ว หากรัฐบาลเห็นด้วยก็คาดว่าจะมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่อไป
นอกจากนั้น สำหรับการเดินหน้าโครงการนี้ ทบ.จะลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ในความร่วมมือกับ บมจ.ปตท. (PTT) ในวันที่ 11 มี.ค. เพื่อพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่จะนำมารองรับโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับการใช้งานช่วงกลางคืน ซึ่งหาก ปตท.สนใจจะเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ของทหารก็ยินดี
พล.ท.รังษี กล่าวว่าอีกว่า ทบ.ยังมีแนวคิดที่จะทำเหมืองในพื้นที่ของทหารในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งค้นพบว่ามีแร่ควอตซ์จำนวนมากกว่าล้านตัน โดยจะร่วมมือกับจีนที่มีเทคโลยีนำแร่ควอตซ์มาผลิตเป็นแผงโซลาร์เซลล์ จากการศึกษาและสำรวจมานานถึง 15 ปีประเมินปริมาณแร่สำรองในบริเวณดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถแปรรูปเป็นซิลิคอนที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 5 แสนเมกะวัตต์ ซึ่งทบ.สามารถดำเนินการได้เองผ่านการยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง และจะกำหนดผลตอบแทนในรูปแบบ profit sharing
ส่วนโครงการด้านการเกษตรในพื้นที่กองทัพบกนั้น โครงการแรกจะใช้พื้นที่กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มาดำเนินโครงการมันสำปะหลังสะอาด และพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตคนในพื้นให้มีคุณภาพ