กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ควรเลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่าง ในฤดูใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดอัตราการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับการผลิตมันสำปะหลังของประเทศ ปัจจุบันมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นในทุกภาค เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2562/63 โดยมีแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กำแพงเพชร ชัยภูมิ กาญจนบุรี อุบลราชธานี นครสวรรค์ และสระแก้ว ซึ่งผลผลิตจาก 7 จังหวัดดังกล่าว มีประมาณ 15.81 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 50.82 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ เนื่องจากความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังแทนอ้อยโรงงานที่ราคามีแนวโน้มลดลง บางส่วนปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเมื่อปีที่แล้ว จึงส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น
ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งเป็นโรคสำคัญที่มีผลกระทบต่อผลผลิตได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง กรมฯ ได้กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 5 มาตรการ ได้แก่ 1) สร้างการรับรู้โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแขนงต่างๆ รวมถึงการอบรม สัมมนา และงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) 2) สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ เพื่อค้นหาต้นที่เป็นโรค 3) เมื่อพบต้นเป็นโรคดำเนินการกำจัดแมลงพาหะนำโรคคือแมลงหวี่ขาวยาสูบ 4) เลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดจากแปลงพันธุ์ที่ไม่พบการระบาดของโรค และควรเป็นพันธุ์ที่ทนทานโรคใบด่าง เช่น ระยอง 72 ระยอง 90 KU50 และห้วยบง 60 รวมถึงงดใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 และมาตรการสุดท้าย มาตรการที่ 5) มาตรการป้องกันกำจัดในระยะยาว ได้แก่ ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่างใช้เองในชุมชน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นอกจากมาตรการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว กรมฯ ได้มีการดำเนินการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังและมาตรการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จำนวน 2 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ปี 2564 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,620 ราย ดำเนินการ ในพื้นที่ 44 จังหวัด และ 2.โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มันสำปะหลัง ปี 2564 เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร และร่วมกันผลิตมันสำปะหลังในรูปแบบแปลงใหญ่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตามคาดว่าการดำเนินงานทั้งด้านการส่งเสริมและการป้องกันกำจัดโรคใบด่างจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดได้ตามที่คาดการณ์ไว้