วันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการป้องกันและปราบปรามกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช น.ส.เนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.วรพงษ์ ดีเวียง พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ติดตามหาตัวกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดบุกรุกแผ้วถางป่าและเผาป่าในพื้นที่ป่าบางกลอยบน หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพียง อ.แก่งกระจาน ดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากกรมอุทยานฯ สนธิกำลังร่วมกับหลายหน่วยงานปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” เพื่อป้องกันรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการปฏิบัติตรวจพบพื้นที่ถูกบุกรุกใหม่ มีการแผ้วถางบริเวณป่าบางกลอยบน ในพื้นที่อุทยานฯ 18 แปลง เนื้อที่ 154 ไร่เศษ
น.ส.เนตรนภา กล่าว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบสภาพป่าบางกลอยบน พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณผสมป่าไผ่ ถูกบุกรุกแผ้วถางกลายเป็นที่โล่ง เมื่อจับค่าพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม พบว่าพื้นที่เสียหาย 18 แปลง จึงเดินทางมาแจ้งความร้องทุกกล่าวโทษ ฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ให้เสื่อมสภาพ ตามมาตรา 19 ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
ต่อมานายอำนาจ เนียมเปีย อายุ 47 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พร้อมคณะจากกรุงเทพฯ และ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 10 คน ได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บุกรุกป่าต้นน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ปรากฏภาพถ่ายจากสื่อต่างๆ ด้วยเช่นกัน พร้อมร่วมกันถือป้ายมีข้อความว่า “พวกเราเซฟป่าแก่งกระจาน” และร่วมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรบุรี
นายศศิน เฉลิมลาภ อดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า การหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้ง จะต้องมีการเจรจาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายที่เป็นไปได้ ขณะที่บริเวณใจแผ่นดินไม่มีช่องกฎหมายที่จะอนุญาตได้ นอกจากใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะต้องพิจารณาจากคำตัดสินของศาลก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คือการจัดหาที่ดินในมาตรา 64 ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่เพื่อสำรวจที่ดินโป่งลึก บางกลอย ให้ใช้เป็นที่ทำกินและตั้งกองทุนช่วยเหลือให้ดำรงชีพได้ในระยะยาว แต่หากมีการบุกรุกที่ดินเก่าแต่ไม่มีร่องรอยการทำกิน ก็จะอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่เชื่อว่าการเจราจะสามารถมีข้อยุติได้ในระยะสั้น เนื่องจากหัวหน้าอุทยานฯปัจจุบันไม่มีท่าทีก้าวร้าว มีการประนีประนอม
“รากฐานของปัญหาเดิมมาจากเรื่องของความขัดแย้งส่วนบุคคลที่ทำกันมาตั้งแต่อดีต และทางกฎหมายมีข้อยุติเพียงชั่วคราว แต่การแก้ไขหัวหน้าอุทยานฯก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่ชุมชนใช้วิธีดื้อแพ่ง มีการแสดงออกด้วยอารยะขัดขืน เพราะอ้างว่าอยู่มาก่อน ดังนั้นการแก้ไขจะต้องมีการเจรจาโดยมีคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย ยังไม่ทราบว่าใครจะทำหน้าที่นี้ได้ เพราะทุกฝ่ายต้องให้การยอมรับ โดยหาทางออกบนข้อกฎหมาย หากจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน ก็ไม่มีใครอนุญาตได้ และปัจจุบันสภาพพื้นที่อาจจะต่างกับชุมชนดั้งเดิม และจะมีปัญหาหลายด้าน ส่วนการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดก็ไม่ควรทำในขณะนี้ “นายศศิน กล่าว
นายศศิน กล่าวว่า สำหรับการยกระดับป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเป็นการต่อสู้ หากการจัดการพื้นยังไม่เรียบร้อย ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเชื่อว่าปีนี้คงไม่มีการประชุมมรดกโลก จึงไม่ต้องรีบร้อนและควรแก้ปัญหาให้จบก่อน และการมีชุมชนก็สามารถเป็นมรดกโลกได้ หากคุณค่าของป่าแก่งกระจานจะมีการจัดการให้อยู่กรอบกติกาที่กำหนด