สัมภาษณ์พิเศษ
การพิจารณาทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ยิ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) จะเสนอปรับแผน PDP เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (floating solar) 2,725 เมกะวัตต์ให้ “เร็วขึ้น” จาก 18 ปีเป็น 5 ปี
และขอให้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการศึกษาการลงทุนโครงการผลิตโซลาร์ฟาร์มระหว่าง กฟผ.ร่วมกับกองทัพบก ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี ขนาด 300 เมกะวัตต์ ยิ่งทำให้แผนการผลิตไฟฟ้าถูกเขย่าแรงขึ้นกระทบพลังงานชนิดอื่น “นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวนโยบายว่า
หนุนไฟฟ้าโซลาร์
“ในส่วนของโซลาร์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ที่จะใช้เวลา 18 ปี ถือว่าช้าไป ผมจะเสนอกระทรวงว่าควรทำให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 5 ปี และเพิ่มกำลังผลิตเป้าหมายมากขึ้นไปอีก เพราะว่าเรามีพื้นที่น้ำอยู่แล้ว ใช้เนื้อที่เขื่อนประมาณ 1-2% ของพื้นที่น้ำทั้งหมด แต่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าเท่ากับเขื่อน ซึ่งปัจจุบันเขื่อนไม่ได้ทำแต่ไฟฟ้า ต้องเผื่อการอุปโภคบริโภค ชลประทาน ถ้ามีโซลาร์ลอยน้ำไปจัมป์เข้ากับระบบส่งผลิตไฟช่วงกลางวันเสริมจากเขื่อนประหยัดมากเลย และเขื่อนก็มีความพร้อมเรื่องระบบส่งอยู่แล้ว”
ในอีกด้านหนึ่ง โซลาร์ลอยน้ำจะช่วยลดการระเหยของน้ำ จากกระแส green energy มาแรง ตอนนี้ทุกคนต่างต้องคาร์บอนนิวทอล คือ กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่หากเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องหาทางลด เช่น การที่ กฟผ.ไปปลูกป่า แต่ต่อให้ปลูกป่าทุกตารางนิ้วในประเทศไทยยังลดคาร์บอนได้แค่ 30-40% ของคาร์บอนที่เราใช้อยู่ และถ้าการใช้อีวีมันจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าปี 2579 ถึง 1.2 ล้านคัน การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เป็น 70,000 เมกะวัตต์
“การทำโซลาร์จึงตอบโจทย์อนาคตอีก 10 ปี ผมคาดการณ์ว่าต่อไปโรงไฟฟ้าที่เหลือคือโซลาร์ และมีแบตเตอรี่ ฉะนั้น กลางวันก็จะมีโซลาร์ใช้ และกลางคืนก็เอาไฟใส่ในแบตเตอรี่ แต่ต้องมีโซลาร์เยอะมาก ๆ ประมาณ 2 เท่าของความต้องการที่มีอยู่ ส่วนพลังงานทางเลือกอื่น เช่น วินด์ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย”
ลุยโซลาร์ทหาร
การลงทุนโครงการผลิตโซลาร์ฟาร์มกับ ทบ. มี ททบ.5 เป็นผู้ปฏิบัติการ จะนำร่องในพื้นที่แก่งเสี้ยน จ.กาญจนบุรี ขนาด 300 เมกะวัตต์ โครงการนี้เกิดจาก ทบ.เป็นผู้ดูแลพื้นที่ราชพัสดุเสนอมา ตามศักยภาพการผลิตติดตั้งได้สูงสุดถึง 30,000 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 3 แสนไร่ ซึ่งคิดเป็นปริมาณเทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยทั้งหมด
“ต้องยอมรับว่าโปรเจ็กต์นี้อาจขัดแย้งกับคนที่ไม่ชอบพลังงานทดแทน ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าประเภทอื่น แต่ผมมองว่ามันคือการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างของประเทศไทยต่อยอดในระยะยาว”
Profit Sharing กับทหาร
“ทาง กฟผ.ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม ทหารมองว่าเขามีที่ ทหารส่วนหนึ่งก็มองว่าเอามาให้ กฟผ.ทำเอง หรือร่วมมือกับเอกชนทำก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทหารก็อาจจะมีส่วนแบ่ง profit sharing บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่ แต่จริง ๆ ถ้ามีพื้นที่ก็ทำได้อยู่แล้ว แต่เรื่องของเรื่องคือต้องเอาไปยื่นให้กระทรวงพลังงาน ผลักดันให้เข้าไปอยู่ใน PDP เราจะเสนอว่าโซลาร์ฟาร์มมีศักยภาพ แต่ไม่ใช่ตัวเลข 30,000 เมกะวัตต์ ผลศึกษาจะเสร็จในเดือนมีนาคม ที่ทาง ททบ.สนใจจะใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดอุปกรณ์จากจีนก็เป็นหนึ่งไอเดียของท่าน พล.ท.รังสี ช่อง 5”
ปูพรมลงทุน “แสนล้าน”
หากกระทรวงเห็นชอบตามแผนปีหน้าเริ่มดำเนินการโซลาร์ลอยน้ำเฉลี่ยปีละ 500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกับแผนการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ทบ. ที่จะใช้งบฯราว 6 แสนล้านบาท หลังจากผ่านแผนต้องหารือเรื่องงบฯลงทุน”
ทั้งนี้ ในแต่ละปี กฟผ.มีการเตรียมงบประมาณการลงทุนไว้อยู่แล้ว โดยในปีนี้ 2564 ตามแผนของ กฟผ.จะลงทุน 42,027 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทน 1-2) โรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้ ระยะที่ 1 โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก และโซลาร์ลอยน้ำ floating solar รวม 5,092.1 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า เช่น โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพฯ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง รวม 24,905.6 ล้านบาท และแผนระยะยาวอื่น ๆ เช่นงานบำรุงรักษา โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด งานก่อสร้างอาคาร รวม 12,029.9 ล้านบาท
ปรับแผน PDP Rev.1
“เมื่อมีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ แผน PDP ต้องปรับใหม่ แต่การปรับ PDP นี้ ยังมีปัจจัยมาจากความจำเป็นจากโควิด โลกร้อน ก็ต้องปรับฟิลมิกซ์เพื่อใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และที่สำคัญการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกแบบใหม่นี้กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน”
“โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ data center ที่อยากจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการวางระบบไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตลอด 24 ชม. ซึ่งการทำโซลาร์ตอนนี้อาจจะทำได้ช่วงกลางวัน แต่ในอนาคตแบตเตอรี่ระบบสำรองไฟฟ้าจะราคาถูกลง จะเป็นประโยชน์กับทั้งโลก เราไม่ต้องนำเข้าก๊าซ เพราะก๊าซประเทศบ้านเราก็เหลือน้อยแล้ว ผมเป็นลูกจ้างไม่ใช่เจ้าของทำอะไรเพื่อประเทศชาติอยู่แล้ว”
“เค้ามองว่าเทคโนโลยีใหม่ ลงทุนน้อยแต่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าโรงเดิม ผมเชื่อว่ามันต้องมีโรงไฟฟ้าที่ต้องเลื่อนออกไป โรงไฟฟ้าที่ต้องเสียสละน่าจะเป็นส่วนของ กฟผ. เพราะจะไปเลื่อนแผนโรงไฟฟ้าของเอกชนไม่ได้ มีการทำสัญญาล่วงหน้าไว้แล้ว แต่เรายังไม่ได้คุยกันถึงตรงนั้น”
ทั้งนี้ ตามแผน PDP 2018 Rev.1 ในช่วงปี 2568-2578 กฟผ.มีแผนก่อสร้าง 5 แห่ง 9 โรงไฟฟ้า ขนาด 6,150 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จ.ขอนแก่น 650 เมกะวัตต์ ปี 2568 โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน 600 เมกะวัตต์ ปี 2569 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ 3 ชุดรวม 2,100 เมกะวัตต์ ปี 2569-2570 โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี 2 ชุด 1,400 เมกะวัตต์ ปี 2570-2572 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี 2 ชุด รวม 1,400 เมกะวัตต์ ปี 2571 และ 2578
ต้นทุนค่าไฟหน่วยละ 2 บาท
“ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฯ เฉลี่ยประมาณหน่วยละ 2 บาท หากในอนาคตสามารถเพิ่มปริมาณมากขึ้น จะยิ่งถูกลง อย่างเช่น เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมต้องการไฟฟ้าที่เสถียร มีการผลิตไฟฟ้าจากทั้งก๊าซ ถ่านหิน นิวเคลียร์ และแผนพลังงานทางเลือกทั้งจากวินด์และโซลาร์ ซึ่งมีแบ็กอัพใหญ่ 1.7 เท่า เขาอยากใช้กรีนเอเนอร์ยี่ แต่ค่าไฟฟ้าเยอรมนีหน่วยละ 12 บาท ส่วนค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ราคา 3-4 บาท เพราะยังมีการผลิตไฟฟ้าบางส่วนที่มีต้นทุนสูงกว่า 2 บาท
เจรจาขายไฟกัมพูชา
ขณะนี้ กฟผ.กำลังเจรจาขายไฟกับทางกัมพูชา ซึ่งต้องวางรูปแบบการขายว่าจะใช้โมเดลอย่างไร คิดราคาเท่าไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ คนกัมพูชาอาจไม่เยอะมาก แต่ต้องการใช้ไฟฟ้าเยอะยังมักจะมีปัญหาเรื่องระบบกริดไม่เชื่อมโยง ไฟตกดับบ่อย ใช้น้ำมันดีเซลผลิตราคาหน่วยละ 3-10 กว่าบาทแต่พอมาเจอโควิดกระทบความต้องการใช้ในประเทศเขาก็ดาวน์