วันเสาร์ ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 17.01 น.
28 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จัดงานนิทรรศการ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” โดยโครงการนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในภูมิภาคตะวันตก จำนวน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มธุรกิจระหว่างภูมิภาค ซึ่งในงานนี้มีผู้ประกอบการจำนวน 200 คน และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ร่วมการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 99 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 จังหวัด มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 20 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP เพิ่มช่องทางการตลาด และมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันตกให้มั่นคงและยั่งยืน
ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพระบรมราโชบายของพระบามสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากการผลิตบัณฑิตแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการช่วยยกระดับศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบกับท้องถิ่นและชุมชนเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยฯ มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ ในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความเข็มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน
นอกจากนี้ รศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมและหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ เกิดสภาวะการว่างงาน และส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตกประสบปัญหาเรื่องการขายลดลง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมจึงร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในภูมิภาคตะวันตก พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์มะพร้าวดิ๊ป เป็นมะพร้าวอบกรอบเคลือด้วยแกงเขียนหวานซึ่งเป็นการเคลื่อด้วยเทคนิคพิเศษ และปัจจุบันมียอดการสั่งซื้ออาหารว่างชนิดนี้จากประเทศอินเดียแล้ว หรือผลิตภัณฑ์ซอสสับปะรด เป็นการพัฒนาต่อยอดโดยนำสับปะรด GAP ที่ขึ้นชื่อของอำเภอบ้านคา มาทำเป็นซอสจิ้มทีมีแคโรทีนอยด์ใช้กระบวนการฆ่าเชื้อแบบ sterilized ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 ปี ซึ่งสามารถต่อยอดนำไปขายใน Modern Trade ได้ในอนาคต
ในการจัดนิทรรศการ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งสิ้นรวม 20 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวดิ๊ป เป็นมะพร้าวอบกรอบเคลือบแกงเขียนหวานด้วยเทคนิคพิเศษ ลดการเหม็นหืนแล้วยังเสริมเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ในการต้าน lipid oxidation
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซุปมันม่วงกึ่งสำเร็จรูป มีสารต้านอนุมูลอิสระ และใยอาหารสูง ซึ่งเป็นการต่อยอดวัตถุดิบที่มีเดิมของผู้ประกอบการ
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสสับปะรด เป็นการพัฒนาต่อยอดโดยนำสับปะรด GAP ที่ขึ้นชื่อของอำเภอบ้านคา มาทำเป็นซอสจิ้มที่มีแคโรทีนอยด์ (สารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านมะเร็ง) เก็บรักษาได้นาน 1 ปี
4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์กะปิผง เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภคและเก็บรักษาได้นาน สามารถคืนตัวด้วยการเติมน้ำเปล่าให้เป็นกะปิสด
5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์บิสกิตผักโขม เป็นบิสกิตเสริมผงผักโขมซึ่งในผักโขมให้สารวิตามินเอเหมาะสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพและเด็ก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปัญหาการล้นตลาดของผักโขม
6) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอรี่อบกรอบ ผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ออร์แกนิค ซึ่งอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก วิตามินอี เบต้าแคโรทิน
7) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซุปเห็ดผง ซึ่งเห็ดช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เหมาะกับคนรักสุขภาพและผู้สูงวัย และสะดวกในการรับประทาน
8) การพัฒนาผลิตภัณฑ์แห้วดอง โดยร่วมกับสมุนไพรบางชนิด เช่น ชิง กระชาย กระเทียม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แห้วดองที่มีประโยชน์จากสมุนไพร บริโภคได้ทั้งกับข้าวต้มและข้าวสวย และเป็นเครื่องเคียงร่วมกับอาหารชนิดอื่นได้
9) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพริกแกงเขียวหวาน สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นโดยยังคงกลิ่นรสชาติและคุณภาพได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องใช้สารกันบูด
10) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝรั่งโรล มีรสชาติอร่อยชุ่มคอ หอมกลิ่นฝรั่ง ไฟเบอร์สูง
11) การพัฒนาผลิตภัณฑ์กัมมี่มะนาวดองแบบแท่ง เป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มตลาดในการบริโภคมะนาวดอง รสชาติอร่อยชุ่มคอเหมาะสำหรับรับประทานเล่น
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากเส้นเยื่อกระดาษ มีความแข็งแรงทนทาน นำมาย้อมสีและออกแบบลวดลายจักสานใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และกระเป๋าได้
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เจดีย์ทองเซรามิก เป็นการพัฒนาลวดลายที่มีความน่ารัก ทันสมัย ที่วัยรุ่นหรือวัยทำงานสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เปลญวน เป็นการนำผักตบชวามาผสมผสานกับไม้ หนังและผ้าแคนวาส โดยใช้เทคนิคการถักเชือกมาทำเป็นกระเป๋า
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากัดผ้าไทย เป็นการพัฒนาจากผ้าขาวม้าแปรรูปให้เป็นชุดเสื้อผ้าเด็กที่มีความทันสมัยมากขึ้น เน้นรูปแบบใส่ง่าย ใส่สบาย สไตล์มินิมอล
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์วงเดือนผ้าจกไทย การพัฒนาฟื้นฟูผ้าจกไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ และพัฒนาผ้าทอมือเส้นเมอร์ซีไรท์ เพื่อเพิ่มรายได้และช่องทางการตลาดองค์ความรู้การย้อมสีธรรมชาติ
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก กลุ่มทอผ้าลาวซี-ลาวครั่ง ซึ่งมีความสวยงามและมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยการนำวัตถุดิบสู่การออกแบบและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัย
4. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลิปบาล์มสีธรรมชาติ ที่สามารถให้สีสันที่สวยงามควบคู่กับทำหน้าที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นริมฝีปาก
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรธรรมชาติจากผลอินทผลัม ทางเลือกสบู่ชนิดใหม่ของผู้ประกอบการในการวางจำหน่าย
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายจากขมิ้นชัน ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ในรูปแบบของสติ๊กระงับกลิ่นกายจากขมิ้นชัน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเป็นการเพิ่มมูลค่าของขมิ้นชัน
การสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในชุมชนท้องถิ่นของภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยนี้ นับว่า เป็นผลิตภัณฑ์คนไทย ที่ใช้งานวิจัยเพิ่มมูลค่าจะช่วย ส่งเสริมศักยภาพสินค้าท้องถิ่นเพื่อการตลาดในประเทศ และต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตกให้เติบโตอย่างยั่งยืน สินค้าดี มีคุณภาพ ช่วยชุมชนไทย มีจำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Search หาตามชื่อแบรนด์สินค้า , Shopee หรือสนใจข้อมูลสินค้า สอบถามเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โทร 0886745925