กรอ.ถกอุปสรรคส่งออก – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของไทย โดยปัญหาสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เบื้องต้นยังไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อภาคการค้าและภาคธุรกิจ ยังสามารถดำเนินการทางธุรกรรมได้ตามปกติ การค้าขายระหว่างกันยังสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเมียนมาถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในเรื่องการค้าชายแดนถือว่าไม่ได้รับผลกระทบด่านสำคัญ 3 ด่าน ที่เป็นด่านถาวรในการส่งออกสินค้าของไทยทั้งด่านแม่สาย แม่สอด หรือระนอง สามารถส่งออกสินค้าได้ตามปกติโดยเฉพาะด่านที่กาญจนบุรี สังขละบุรีที่ปิดไปคาดว่าจะสามารถเปิดด่านได้ในเร็ววัน กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในเมียนมาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานกลับมาทุกวันและจะอัพเดตสถานการณ์ในเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนการทำธุรกิจให้ทราบผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน
ในส่วนของการแก้ปัญหาการส่งออกนั้น โดยการส่งออกรถยนต์ที่ไปยังประเทศเวียดนามที่มีปีญหาติดขัดเรื่องกฎระเบียบในการนำตัวอย่างรถยนต์ไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ซึ่งภายหลังข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศแล้วเหลือขั้นตอนที่จะให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ หากทุกประเทศให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้การส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามง่ายขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็จะเร่งนำเรื่องข้อตกลง MRA เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อเห็นชอบการให้สัตยาบันให้เร็วที่สุดคาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้
ส่วนปัญหาการลำเลียงรถที่ผลิตจากโรงงานไปยังท่าเรือเพื่อการส่งออกซึ่งทุกคันจะไม่มีทะเบียนเพราะเป็นรถใหม่แต่อาจถูกดำเนินคดีข้อหาไม่มีทะเบียนจากเจ้าหน้าที่ ตนได้สั่งการให้หารือร่วมกันกับทุกหน่วยงานขณะนี้ได้มีมาตรการให้สามารถดำเนินการได้โดยเจ้าหน้าที่ต้องไม่ไปจับกุมดำเนินคดีเพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพื่อการส่งออก ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่กระทบไปทั่วโลกหลายประเทศประสบปัญหาเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกันกับภาคเอกชนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และเอกชนในส่วนอื่นๆ รวมทั้งกรมศุลกากรในเรื่องของการท่าเรือและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ แนวทางว่าการแก้ปัญหาจะประกอบด้วย 1. สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้คอนเทนเนอร์จะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทนเช่น ผลไม้ มะพร้าว หรือพืชเกษตรชนิดอื่นรวมทั้งไม้ยางพาราเป็นต้น โดยมีการเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.พ. เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์
2. ส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามาโดยใช้มาตรการจูงใจเช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า การท่าเรือจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปโดยเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความ 3 ข้อเสนอของเอกชนที่ขอให้เรือความยาวขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังโดยไม่ต้องขออนุญาต
โดยกระทรวงพาณิชย์ภาคเอกชนได้หารือร่วมกันกับการท่าเรือและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้โดยขออนุญาตใช้เวลาแค่หนึ่งวันและใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี สินค้าส่งออกขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นการลดต้นทุน นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริม คือ สินค้าบางอย่างที่ส่งไปจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาส่งออกทางบกผ่านด่านของไทยไปลาวเวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ
ส่วนการเปิดด่านชายแดนเพิ่มนั้น ขณะนี้มีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์ได้อีกหนึ่งด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬเป็น 40 ด่าน อยากเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1. ด่านป่าแซง จังหวัดอุบลราชธานี 2. ด่านเชียงคาน จังหวัดเลย 3. ที่ท่าเรือหายโศก จังหวัดหนองคาย โดยการเปิดด่านนี้ตนจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่จะถึงนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายเพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการส่งออกในปีนี้ว่า จะขยายตัวได้ 3.5-4% แต่โอกาสที่จะถึง 4% ก็มีความเป็นไปได้สูง