26 กุมภาพันธ์ 2564
| โดย พรไพลิน จุลพันธ์
11
ททท. ประเมินหยุดยาวมาฆบูชา 26-28 ก.พ. ท่องเที่ยวไม่คึกคัก ใช้จ่ายหด คาดรายได้หมุนเวียนเหลือ 3.9 พันล้าน ติดลบ 38% อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศร่วงมาอยู่ที่ 16%
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวเนื่องในวันมาฆบูชาปี 2564 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ.นี้ คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 1.09 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 44% มีรายได้หมุนเวียนกว่า 3,900 ล้านบาท ลดลง 38% โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ลดลง 51%
คาดว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงหยุดยาววันมาฆบูชาปลายเดือน ก.พ.ไม่คึกคักเท่าที่ควร การใช้จ่ายหดหายเมื่อเทียบกับวันหยุดมาฆบูชาปี 2563 เนื่องด้วยปัจจัยลบจากการระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าในเดือน ก.พ.จะคลี่คลายอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ยังคงมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยากับประชาชนบางส่วนที่ยังกังวล และไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย จึงชะลอการเดินทางออกไปก่อน หรือออกเดินทางท่องเที่ยว แต่หลีกเลี่ยงที่จะพักค้างแรม ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย และปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่ยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานในบางพื้นที่
“ปัจจัยลบดังกล่าวทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยววันหยุดนี้ตกอยู่ในแดนลบ ซึ่งภูมิภาคตะวันออก ติดลบทั้งจำนวนและรายได้มากที่สุด โดยมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 1.18 แสนคนครั้ง ติดลบ 74% และมีรายได้ 471 ล้านบาท ติดลบ 68% และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 12% ลดลง 56%”
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพื้นที่แม่เหล็กของการทำบุญไหว้พระในวันหยุดสำคัญอย่าง จ.จันทบุรี ประกาศงดการจัดงานประเพณีมนัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาจะมีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางหลั่งไหลเพื่อขึ้นไปมนัสการฯ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในวันมาฆบูชา และติดอันดับ 1 ใน 10 ติดต่อกันมา 3 ปีซ้อน ดังนั้นจึงคาดว่าการงดจัดงานมนัสการฯ เขาคิชฌกูฏ น่าจะเป็นตัวฉุดให้จำนวนและรายได้ของภาคตะวันออกลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว แต่ด้วยวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธ จึงคาดว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งออกเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมในวันสำคัญดังกล่าว อาทิ ตักบาตร ทำบุญไหว้พระ เวียนเทียนตามวัดต่างๆ ตามความเชื่อและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน พร้อมกับใช้ช่วงเวลาดังกล่าวถือโอกาสพาครอบครัวไปรับประทานอาหาร และแวะเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ โดยเน้นการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ
ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวนี้ จึงน่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้ ส่วนใหญ่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี ขณะที่พื้นที่เมืองรองที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา และมีกระแสศรัทธาต่อเนื่องจากไอ้ไข่อย่างนครศรีธรรมราช ก็ได้รับความนิยมในช่วงวันหยุดนี้เช่นกัน นอกจากนี้ จ.เชียงใหม่ แม้จะเป็นพื้นที่ระยะไกล แต่ด้วยอากาศที่เย็นอยู่ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและธรรมชาติที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มวัย ประกอบกับไม่มีปัญหาเรื่องหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เหมือนกับจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้คนไทยเลือกที่จะ เดินทางท่องเที่ยวไปเชียงใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว