ปปช.ลงพื้นที่กาญจน์ เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปัญหาข้อเท็จจริงตามประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
เมื่อเวลา 09.30 น.ของวันที่ 14 มี.ค.65รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัติศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พร้อมด้วยนางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันทุจริตแห่งชาติ ได้นำเครือข่ายชมรม Sttong และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และข้อเท็จจริงตามประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและข้อเท็จจริงตามประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ห่างไกล ตามโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต
โดยมีนางคิรากร นาคเอี่ยม เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดกาญจนบุรี ให้ข้อมูลในการตรวจติดตามในการดำเนินงานฯในพื้นที่ และนายไชยวุฒิ อารีย์ชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ให้การต้อนรับ และรายงานการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ โดยในพื้นที่ภาค 7 ได้นำประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นที่ฐานในพื้นที่ห่างไกล ในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ใน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการถนนบ้านน้ำพุ-ไกรเกรียง ซึ่งมีสภาพปัญหาจากเทศบาลตำบลเขาโจด เน้นทำถนนระยะทางสั้นๆ แบ่งเป็นหลายโครงการ ทั้งที่เป็นถนนเส้นเดียวกัน และไม่ได้ขออนุญาตเข้าดำเนินการก่อสร้าง ซ่อมแซมถนนในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ให้ถูกต้อง
รวมทั้งพบว่ามีการลักลอบขุดดินลูกรังในเขตอุทยานแห่งชาติฯ มาซ่อมถนน และโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไกรเกรียง ซึ่งสภาพปัญหามีการก่อสร้างในเขตอุทยานฯ ไม่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียง และอยู่ใกล้เขตรอยเลื่อนแผ่นดินไหว พบว่าการก่อสร้างอาคารมีการหล่อคาน หล่อปูนไม่เต็มแบบ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องโครงสร้างทรุดตัว รวมถึงผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไม่ทันส่งมอบงานงวดที่ 1 ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดกาญจนบุรี ได้ตรวจสอบและให้คำแนะนำไปแล้ว ทางหน่วยงานก็ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องในเบื้องต้น
สำหรับโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตนี้ จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับพื้นที่ นำปัญหาการทุจริต หรือประเด็นความเสี่ยงมาจัดทำเป็นหลักสูตรองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการป้องกันการทุจริต นำไปสู่การกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันการทุจริตให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดเครื่องมือที่โปร่งใสในการดำเนินงานของภาคเอกชนและภาครัฐในพื้นที่ต่อไป