‘อดีตรอง ผบก.สิงห์บุรี’ ระบุรีสอร์ท ‘เสรีพิศุทธ์’รุกลำน้ำแควน้อย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ ซ้ำรอยบ้านพักริมเเจ้าพระยา เผยคดีค้าง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ กว่า 6 ปี ยื่น ป.ป.ช.สอบ จนท.ศาลสูง ละเว้นขัด ม.157
20 ก.พ.64 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ โมรานนท์ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี (รอง ผบก.ภ.จว.สิงห์บุรี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีรีสอร์ทภูไพรธารน้ำ หรือไร่จิตตรี โฉนดที่ดินเลขที่ 7783 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่าได้ล่วงล้ำลำน้ำที่ได้ถมหิน ดิน และทรายลงในแม่น้ำแควน้อย รุกล้ำลำธารสาธารณประโยชน์ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
เปรียบเทียบกับกรณีที่ กรมป่าไม้ แจ้งความกล่าวโทษที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก่อสร้างท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ติดกับโฉนดที่ดินเลขที่ 4295 ต.บางกระบือ บางซื่อ กทม. บุกรุกป่าตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ 2484 ฐานก่อสร้าง หรือยึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า กรณีนี้ กรมเจ้าท่า เคยมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รื้อถอนส่วนที่ล่วงล้ำลำน้ำสาธารณะภายใน 30 วัน แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่า คำสั่งกรมเจ้าท่าออกโดยมิชอบ อย่างไรก็ตามในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองกลาง มีการสั่งให้สำรวจรังวัดที่ดินเพิ่มเติมพบว่า มีการล่วงล้ำลำน้ำสาธารณะไปกว่า 3 ไร่ โดยมีตัวแทนที่รับมอบอำนาจจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ร่วมชี้ที่ดินในระหว่างการเดินสำรวจรังวัดด้วย ศาลปกครองกลาง จึงพิพากษาว่าคำสั่ง กรมเจ้าท่า ที่ให้รื้อถอนภายใน 30 วันนั้นชอบด้วยกฎหมาย
แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2557 แต่คดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นศาลปกครองสูงสุด มากว่า 6 ปี ซึ่งตนก็ได้ติดตามทวงถามมาตลอด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เมื่อทราบข่าวว่า กรมป่าไม้ แจ้งความกล่าวโทษ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กรณีท่าเทียบเรือข้างวัดจันทรสโมสร กทม.จึงอยากขอให้ กรมป่าไม้ พิจารณาว่ากรณีรีสอร์ทภูไพรธารน้ำ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเช่นเดียวกันหรือไม่
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีความล่าช้าของคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดมากว่า 6 ปีนั้น เมื่อวันที่ 17 ก.พ.64 ที่ผ่าน ตนได้นำเรื่องไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาว่า นิติกร หรือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานศาลปกครอง เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ตชอดจนจะนำเรื่องนี้ไปยื่นร้องต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบด้วยอีกทางหนึ่ง.