เวลาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเผชิญปัญหาน้ำต้นทุนน้อย
เหลียวไปเหลียวมา ลงเอยที่เขื่อนแม่กลองทุกที
เพราะเขื่อนแม่กลองเป็นเขื่อนทดน้ำที่อาศัยน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์กับเขื่อนวชิราลงกรณ ถือเป็นเขื่อนใหญ่อันดับ 1 และ 4 ของประเทศตามลำดับ
แม้จะมีความจุมาก แต่ในทางเทคนิค ปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนศรีนครินทร์ก็น้อยกว่าเขื่อนภูมิพล เช่นเดียวกับเขื่อนวชิราลงกรณออกแบบน้ำใช้การน้อยกว่าเขื่อนสิริกิติ์ เป็นเรื่องที่สังคมเองต้องทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน
ถึงแม้การออกแบบปริมาณน้ำใช้การจะเป็นเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริง ยังต้องขึ้นกับปัจจัยปริมาณฝนที่ไหลลงเขื่อนเป็นสำคัญ
ภาคตะวันตก รวมๆ ฝนมาก น้ำไหลลงเขื่อนมาก ปริมาณน้ำใช้การค่อนข้างดี เทียบกับภาคเหนือ ปริมาณฝนน้อย กระจายตัว จึงทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในเขตภาคกลางมีน้อย และไม่พอใช้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะการทำนาปรังที่ต้องจำกัดพื้นที่แทบทุกปีตลอดมา
เมื่อไม่พอ ก็ต้องเหลียวไปหาน้ำใช้การจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำชลประทานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม รวมทั้งบางส่วนของเพชรบุรี
ไม่แปลกที่กรมชลประทานจะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยา หนักเข้าปริมาณการผันน้ำมักตั้งตัวเลขขั้นต่ำที่ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี
หนักเข้า ระยะหลังตัวเลขเริ่มกระโดดเป็น 1,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกับฤดูแล้งปี 2565
เป็นเรื่องที่ดีที่มีความช่วยเหลือข้ามลุ่มน้ำกัน จากลุ่มน้ำที่มีน้ำบริบูรณ์ไปยังลุ่มน้ำที่ขาดแคลน แต่กลับกันอาจกระอักกระอ่วนใจได้ หากคนในลุ่มน้ำแม่กลองตั้งคำถามคณะกรรมการลุ่มน้ำว่า ช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วลุ่มน้ำแม่กลองพอใช้ไหมหรือได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้าง
ต่อให้น้ำเป็นของแผ่นดินก็เถอะ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึก
ทุกวันนี้ เขื่อนแม่กลอง นอกจากทำหน้าที่ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรแล้ว ยังต้องส่งน้ำดิบให้การประปานครหลวง (กปน.) ผลิตน้ำประปาป้อนคนกรุงเทพฯ ยังต้องส่งน้ำให้ลุ่มน้ำท่าจีนสำหรับรักษาระบบนิเวศและการเกษตร ในอนาคตยังจะผันน้ำบางส่วนไปลงในเขื่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.กาญจนบุรี ที่ได้ชื่อเป็นอีสานเมืองกาญจน์จากความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ
ถ้าปริมาณน้ำใช้การบริบูรณ์ด้วยดี ปัญหาการผันน้ำส่วนเกินมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาคงไม่หนักหนามาก ในทางกลับกัน เกิดแล้งชนแล้ง ลุ่มน้ำภาคเหนือแล้ง ลุ่มน้ำตะวันตกก็แล้ง น้ำที่จะส่งมาช่วยคงไม่พอ ความเดือดร้อนแสนสาหัสคงเกิดขึ้น
นี่เองเป็นที่มาของโครงการผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล
เพื่อเติมน้ำในเขื่อนใหญ่เก่าแก่นี้ให้บริบูรณ์ขึ้น เพราะนับวันฝนตกน้อย ไหลลงเขื่อนภูมิพลน้อย เขื่อนสิริกิติ์เองก็เถอะ เริ่มมีปรากฏการณ์ฝนน้อย น้ำไหลลงเขื่อนน้อยเช่นกัน
น้ำส่วนเกิน 1,700 ล้าน ลบ.ม. จากแม่น้ำยวมฤดูฝน ส่งลงเติมเขื่อนภูมิพล เท่ากับประกันความปลอดภัยหลายด้าน ตั้งแต่อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ไล่น้ำเค็มที่หนุนสูง รวมถึงการเกษตรและอุตสาหกรรม
แต่โครงการนี้ถูกชลอแม้จะผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อไม่นานมานี้
สะดุดหยุดกึกอยู่ตรงนั้นยาวนานแค่ไหนไม่มีใครรู้อนาคต
เป็นชะตากรรมของประเทศไทยที่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มพัฒนา เดินทางมาถึงจุดตีบตัน โดยไม่มีคำตอบว่า ถ้าขาดน้ำแล้วจะเอาน้ำที่ไหนใช้
รัฐบาลควรมั่นคงต่อแนวทางการพัฒนา หากมีปัญหาสมควรสะสางแก้ไขโดยเร็ว โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน มากกว่าปล่อยไปตามกระแสการคัดค้านอย่างเดียว
ลองคิดดู ถ้าตะวันตกแล้ง เหนือก็แล้ง บนเวทีถกเถียง ใครจะแพ้ ใครจะชนะไม่สำคัญ แต่ลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ที่รวมเอาเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงเทพฯ แพ้ แล้วจะเอาน้ำที่ไหนใช้?