นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะนักวิจัย จาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ และศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ร่วมเป็นเกียรติใน “กิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ประจำปี 2564 ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ ตำบลวังเย็น อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
กิจกรรมดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกร ให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้สามารถลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ วว. นำเสนอนิทรรศการและถ่ายทอดองค์ความรู้ ดังนี้
การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต สามารถใช้บรรจุอาหารได้อย่างปลอดภัย ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ เยื่อกล้วย/ฟางข้าว/ชานอ้อย และเยื่อสับปะรด
เทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า : การผลิตถ่านหอม” เป็นนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้จากตลาดสด มีความโดดเด่นในเรื่องการปล่อยกลิ่นหอม ดูดกลิ่นอับชื้น และเมื่อหมดสภาพยังใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ได้
นอกจากนี้ วว. ยังสนับสนุน สารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย และเมตาไรเซียม ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ