



แม้เหตุการณ์อันเจ็บปวดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ร่องรอยของความสูญเสียครั้งนั้น ยังคงจารึกอยู่ในหัวใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยากจะลบเลือนได้ และที่นี่ได้รวบรวมเสี้ยวหนึ่งของความเศร้าที่ ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้น ณ จังหวัดกาญจนบุรีนั่นเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 โดยเจ้าคุณพระเทพปัญญาสุธี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงครามและเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ก่อสร้างขึ้น เพื่อแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี-พม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อรำลึกถึงและให้เกียรติกับเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายนี้ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ชื่อภาษาอังกฤษของพิพิธภัณฑ์ที่รู้จักกันดีว่า JEATH นั้นเกิดจากการใช้ตัวอักษรที่อยู่ข้างหน้าชื่อประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มารวมกัน กล่าวคือ Japan (J) England (E) Australia America (A) Thailand (T) และ Holland (H) นั่นเองสำหรับตัวอาคารจัดแสดงนั้นแบ่งออกเป็น 2 อาคารด้วยกัน อาคารหลังแรก เป็นอาคารจำลองที่พักของเชลยศึก สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก ผนังทำเป็นฝาไม้รวกขัดแตะ ด้านในยกพื้นขึ้น กึ่งหนึ่งแล้วปูด้วยฟากไม้ไผ่ซึ่งใช้เป็นที่นอนสำหรับเชลย ส่วนตามผนังและเสาของอาคารจัดแสดง ภาพถ่ายต่าง ๆ ทั้งภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศ ภาพวาดสีน้ำโดยอดีตเชลยศึก ภาพสเก็ตช์เกี่ยวกับการสร้างสะพานและสภาพของเชลยศึกโดยอดีตหมอศัลยกรรมของกองทัพออสเตรเลีย จดหมายของเชลยศึก โปสต์การ์ดของนายทหารญี่ปุ่นที่ลูกหลานนำมามอบให้ ส่วนอาคารหลังที่สองนั้นเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยของเชลยศึก กองทัพญี่ปุ่น อาทิเช่น หมวกทหาร ปืน ลูกระเบิด ค้อนตอกหมุดรางรถไฟ ขวดเหล้าสาเกญี่ปุ่น เป็นต้น ผนังด้านข้างจัดแสดงภาพถ่ายเชลยศึกที่รอดชีวิตจากสงคราม และพวกเขายังได้เคยมา เยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายที่ไม่เคยจางหายไปจากหัวใจพวกเขาเลยแม้แต่น้อยเปิดทำการทุกวันเวลา 08.30-16.30 น.ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท/ ชาวต่างชาติ 30 บาท